รู้จักภาพ Street photography ผ่านช่างภาพสตรีทระดับโลก
ในวิกิพีเดีย ให้ความหมายของ Street photography ว่าเป็นการถ่ายภาพโดยปราศจากการจัดฉาก เป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ของผู้คน, สัตว์, สิ่งของหรือบรรยากาศในห้วงนาทีนั้น อย่างไรก็ตาม มีเส้นบางๆ คั่นระหว่างภาพ Street photography กับ candid photography ซึ่งหลายคนให้ความเห็นว่า ภาพแบบสตรีทหลายภาพก็มีความเป็นภาพแคนดิดได้เหมือนกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภาพแคนดิดทุกภาพจะเป็นภาพสตรีท
รู้จักภาพ Street photography ผ่านช่างภาพสตรีทระดับโลก
อองรี การ์ตเทียร์-เบรสซอง ช่างภาพสตรีตชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภาพถ่ายของเขาโดดเด่นที่ความเวิ้งว้างของภาพ เขามักถ่ายภาพด้วยกล้อง 35 มม. และท่องเที่ยวถ่ายภาพผู้คนบนถนนกับชีวิตประจำวันอยู่เป็นประจำ “ในภาพถ่ายน่ะ สิ่งเล็กๆ ก็กลายเป็นเนื้อหาที่ยิ่งใหญ่ได้นะ เช่นเดียวกับคนตัวเล็กๆ ที่กลายเป็นไลต์โมทีฟ*ได้เหมือนกัน” (*leitmotiv ธีมบทเพลงในงานโอเปร่าที่เรามักได้ยินซ้ำๆ มักเป็นเพลงสำคัญที่เมื่อขึ้นโน้ตมาแล้ว เราจะรับรู้ได้ทันทีว่านั่นคือเพลงอะไร ใช้ประกอบคาแร็กเตอร์ตัวละครใด)
ชีวิตของการ์ตเทียร์-เบรสซอง ถูกสร้างเป็นสารคดีชีวประวัติเรื่อง Henri Cartier-Bresson: The Impassioned Eye (2003, ไฮน์ซ บิตเลอร์) ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงชีวิตของการ์ตเทียร์-เบรสซองในฐานะช่างภาพผู้มุ่งมั่นในการถ่ายภาพตลอดทั้งชีวิตของเขา
แกร์รี วิโนการ์ด ช่างภาพชาวนิวยอร์ค ภาพของเขามักเป็นภาพที่ถ่ายแถบลอสแองเจลิสและบริเวณโดยรอบในช่วงปี 1960-1970 ฟิล คูมส์ นักเขียนจากบีบีซีให้ความเห็นว่า “ใครก็ตามที่สนใจเรื่องภาพถ่ายสตรีต ก็มีไม่กี่ชื่อหรอกที่โดดเด่นขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือชื่อของ แกร์รี วิโนการ์ด ที่บันทึกภาพนิวยอร์คยุค 60 ไว้เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ในทุกภาพ”
อเล็กซ์ เว็บบ์ คือหนึ่งในช่างภาพสายสตรีตอีกคนที่ภาพถ่ายของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวและสีสันสดใส เขาเคยทำสารคดีภาพบันทึกเรื่องราวและชีวิตของผู้คนชาวอเมริกันทางใต้ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง รวมถึงเดินทางไปยังแคริบเบียนกับเม็กซิโกเพื่อทำสารคดีด้วย จนเราอาจกล่าวได้ว่า งานของเขาคือบันทึกทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
ไดโดะ โมริยามะ คือช่างภาพสตรีตคนสำคัญของญี่ปุ่น เพราะภาพถ่ายของเขานั้นกลายเป็นจุดแบ่งที่ทำลายขนบภาพถ่ายแบบญี่ปุ่นหลังยุคสงคราม งานของเขาเผยให้เห็นด้านมืดของผู้คนเมืองใหญ่และแง่มุมที่คนไม่ค่อยเห็นในดินแดนศิวิไลซ์ ทั้งยังเป็นการชี้ให้เห็นว่า มีอีกหลายชีวิตที่ถูกทิ้งให้อยู่อย่างเจ็บปวดและโดดเดี่ยวในยุคอุตสาหกรรม
วิเวียน ไมเออร์ คือหญิงอเมริกันธรรมดา รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กในเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของรัฐชิคาโก ใช้ชีวิตเรียบง่ายและไม่เป็นที่รู้จักกระทั่งเสียชีวิตในปี 2009 ด้วยวัย 83 ปี โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเธอคือเจ้าของภาพฟิล์มล้ำค่าที่เธอถ่ายด้วยตัวเองนับแสนภาพ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของเธอไว้อย่างครบถ้วน
ชีวิตของไมเออร์ถูกร้อยเรียงเป็นสารคดีใน Finding Vivian Maier (2013) ที่ค่อยๆ เล่าเรื่องราวของช่างภาพหญิงผู้มีประวัติเรียบง่าย ภาพถ่ายของเธอส่วนมากเป็นภาพที่ถ่ายในชิคาโก เมืองที่เธออยู่ และบ่อยครั้ง-โดยที่เธออาจไม่ได้ตั้งใจ-ภาพถ่ายนับแสนใบของเธอกลายเป็นหมุดหมายของเหตุการณ์ในอเมริกา
ติดตามชม Finding Vivian Maier เสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2560 รับชมพร้อมกันแบบสดๆ 2 ช่วงเวลา 13.00 น. และ 22.00 น. ทาง movie.mthai.com/bioscopetheatre
No comments:
Post a Comment