ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร? ทำไมต้องปรับเพิ่ม
ตามที่เมื่อวานนี้ (19 ธันวาคม 2561) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีนั้น เราจะมาทำความเข้าใจกันอีกครั้งว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ว่านี้คืออะไร และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมทั้งเราทุกคนอย่างไรบ้าง
- ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร?
ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ใช้ดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน
ผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไทยคือ คณะกรรการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของแบงก์ชาติ กนง. จะมีกรรมการทั้งหมด 7 คน โดยมีผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นประธาน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ กนง. กำหนด และเพื่อให้มีการเชื่อมโยงกับคณะกรรมการด้านนโยบายอื่นๆ ของแบงก์ชาติ นอกจากนั้น มีรองผู้ว่าการอีก 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 4 คนเป็นกรรมการใน กนง. เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจผู้ว่าการตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
- อัตราดอกเบี้ยนโยบาย “ไม่เท่ากับ” อัตราดอกเบี้ยของธนาคาร
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ แต่โดยปกติแล้วเมื่อมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโบยาย จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย และส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตร ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดอกเบี้ยนโยบาย
- กลไกในการปรับลด-เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย
โดยหลักการแล้ว กนง. มักจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ลดดอกเบี้ยนโยบาย) ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ หรือในช่วงที่ระดับราคาสินค้าภายในประเทศลดต่ำลง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน กนง. จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (เพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย) ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไปจนอาจขาดเสถียรภาพ หรือในช่วงที่ระดับราคาสินค้าภายในประเทศสูงเกินไป เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
- นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบ เป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ผ่านการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือเรียกว่า เป้าหมายของนโยบายการเงิน ควบคู่ไปกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการฯ ประกาศปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะส่งผลกระทบผ่านระบบการเงินในช่องทางต่าง ๆ 5 ช่องทาง ได้แก่
โดยการส่งผ่านภายใต้ช่องทางเหล่านี้จะขยายวงกว้างไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการใช้จ่ายและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจและจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและอัตราเงินเฟ้อในที่สุด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี คาดว่า กนง. น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีหน้า และอย่างเร็วที่สุด คือ ในรอบการประชุมเดือนมีนาคม เนื่องจาก กนง. น่าจะรอประเมินผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ด้วย
โดย กนง. ได้สื่อสารว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ได้รับผลจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงมากในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้คณะกรรมการฯ น่าจะรอดูตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่จะออกในเดือนมีนาคม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อไปได้ต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2019 จะสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายได้
นอกจากนี้ คุณภาพสินเชื่อเพื่อการบริโภค และสินเชื่อ SME ที่แนวโน้มแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กนง. ต้องรอประเมินหลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น วัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จึงเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ข้อมูลจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
No comments:
Post a Comment