“มีรูปพ่อ…ให้อุ่นใจ” ด้วยการสร้างความทรงจำบนฝาผนัง
คนไทยผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีตกาล ทั่วทั้งแผ่นดินต่างกล่าวขานพระนามพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อ” และประชาชนที่เปรียบเสมือน “ลูก” เรื่อยมา แต่เล็กเราต่างคุ้นเคยกับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (รูปถ่าย) และพระบรมสาทิสลักษณ์ (รูปวาด) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บนข้างฝาบ้าน บนหิ้งบูชา หรือแม้แต่บนตู้กับข้าวเองก็ตาม แต่ละภาพไม่เพียงแค่ความงดงามเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้ย้อนระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อคนไทย ตลอดจนพระอัจฉริยภาพในทุกด้าน
เราจึงได้หยิบไอเดียการแขวนประดับด้วยบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ ในแต่ละบ้าน ที่ไม่เพียงแค่ความงดงามยามเมื่อสายตาจ้องสัมผัสเท่านั้น แต่การจัดองค์ประกอบให้ภาพที่อยู่บนฝาผนังสมบูรณ์นั้นมีหลายสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการเว้นช่องว่างที่เหมาะสม โทนสีของภาพ กระทั่งการวางตำแหน่งใกล้ไกลที่ระยะสายตามองเห็นก็ตาม ช่วยเสริมให้ฝาผนังบ้านของเราเป็นงานศิลปะที่จับต้องได้
การติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในห้องรับแขก ให้ยึดเอาเฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่กึ่งกลางเป็นหลักในการแขวนภาพ ฉะนั้นอย่างในภาพได้วางโซฟาอยู่ตรงกลาง จึงไม่ควรติดรูปต่ำเกินไป ควรเว้นระยะให้สูงกว่าระดับศีรษะขึ้นไป โดยสามารถติดภาพเป็นกลุ่มในโทนสีที่ใกล้เคียงกัน วางภาพใหญ่อยู่กึ่งกลาง และเว้นระยะทั้งสองด้านให้สมดุล
หากภาพพระบรมฉายาลักษณ์มีขนาดเล็ก ก็สามารถติดหลายภาพในลักษณะเป็นกลุ่ม ให้โทนสีใกล้เคียงกัน เพื่อให้จุดสนใจมุ่งตรงไปที่ผนัง ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเน้นความเป็นระเบียบ เพราะจริงๆ แล้วการติดภาพดังกล่าวก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แล้วแต่ความเหมาะสมและความชอบของผู้อ่าน
อีกหนึ่งตัวอย่างห้องรับแขก ที่ยึดเอาคอนโซลวางทีวีเป็นหลักในการติดภาพ เพราะรูปแบบการวางโซฟาและเก้าอี้รับแขกไม่ได้ชิดติดกับผนัง ฉะนั้นการติดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าเจ้าของบ้านหรือแขกผู้มาเยือนเองก็ตามก็สามารถมองเห็นภาพที่ติดอยู่ที่ผนังได้อย่างชัดเจน
ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์บนผนังอิฐก่อสีขาว ที่เลือกแขวนประดับไว้ที่มุมด้านหนึ่งบนผนังของห้อง ด้วยกรอบภาพที่มีขนาดต่างกัน อาจเน้นด้านหนึ่งติดภาพใหญ่ และอีกด้านเน้นติดภาพเล็ก ก็แล้วแต่ความเหมาะสมและระยะในการวางด้วย
บ้านที่ฉาบด้วยผนังปูนเปลือย อาจไม่อยากให้เกิดร่องรอย อีกกรณีหนึ่งการเจาะอาจทำให้พื้นผิวมีรอยแตกร้าว สามารถหาจุดวางโชว์ตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ เพียงแค่ขอให้ดูตามความเหมาะสมเป็นพอ
หากผนังบ้านถูกวางแทนที่ด้วยเฟอร์นิเจอร์หลากชิ้น ผู้อ่านสามารถวางประดับภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ด้วยการใส่กรอบตั้งวางโชว์ไว้ตามมุมของห้อง หรืออาจตั้งวางไว้บนตู้ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ยังเป็นการขับให้เฟอร์นิเจอร์ดูสวยงามและมีเรื่องราวขึ้นด้วย
ผนังปูนเปลือยที่ให้ความรู้สึกเก่าด้วยการฉาบทาสีสร้างลวดลายในโทนเข้ม ฉะนั้นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ถูกนำมาประดับที่ผนังก็ถูกเลือกเป็นให้ภาพขาวดำ เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมคลุมโทนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้การติดภาพก็ได้วางระยะห่างลดหลั่นลงมาจากพระพุทธรูปได้อย่างลงตัวและเหมาะสม
อีกหนึ่งห้องรับแขก ที่ยึดเอาโซฟาเป็นหลักในการติดภาพ ทั้งนี้ผู้อ่านก็ไม่จำเป็นต้องติดภาพจนทั่วผนัง เพราะจะทำให้แย่งจุดเด่นจากเฟอร์นิเจอร์ที่วางอยู่จนทั่ว โดยอาจเลือกเพียงแค่ภาพเดียวไว้กึ่งกลาง ซึ่งการประดับภาพลักษณะนี้อาจใช้กับบ้านที่ตกแต่งอย่างสวยงามหรูหราอย่างในภาพ
นอกจากจะช่วยเติมเต็มผนังอันโล่งกว้างแล้ว ทุกครั้งที่มองภาพพระองค์ท่านจะเป็นมากกว่าภาพเขียน มากกว่าภาพถ่าย เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้เราสร้างแต่คุณงามความดีต่อไป
เครดิตจาก นิตยสาร Life and Home ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2016
อ่านเพิ่มเติม ได้ที่ www.mbookstore.com
No comments:
Post a Comment