พระเทพฯ รับสั่งให้ ศธ.กลับมาสอนภาษาไทยสะกดคำ แบบอดีต
เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กไทยสะกดคำไทยไม่เป็น สมเด็จพระเทพฯ จึงทรงรับสั่งให้ ศธ.กลับมาสอนภาษาไทยสะกดคำ แบบอดีต เพราะจะเป็นประโยชน์ให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้มากกว่าเมื่อเจอคำใหม่ๆ หลังจากที่ปัจจุบัน ศธ. ได้มีการเปลี่ยนวิธีสอนให้เด็กจำเป็นคำๆ แทน
พระเทพฯ จึงทรงรับสั่งให้ ศธ.กลับมาสอนภาษาไทยสะกดคำ แบบอดีต
สมเด็จพระเทพพระรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดงานการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ5 รอบ 2 เมษายน 2558 โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมตอนหนึ่ง ว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเห็นงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ ราษฎรมีความรู้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้ เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น ทั้งยังสามารถได้รับการศึกษาและมีโอกาสพัฒนาตนเองให้มีความรู้สูงยิ่งขึ้น เมื่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้จบการศึกษาแล้วจะเป็นรากฐานและกำลังสำคัญของบ้านเมือง เป็นคนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
ด้าน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ.กล่าวภายหลังตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานการดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสถึงการสอนอ่านเขียนภาษาไทย แบบแจกรูปสะกดคำ ซึ่งเป็นวีธีการสอนแบบในอดีต และสมัยที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงเรียนวิธีนี้มาเช่นเดียวกัน แต่ภายหลัง ศธ. ได้มีการเปลี่ยนวิธีสอนเป็นวิธีสอนให้เด็กจำเป็นคำๆแทน ทำให้เด็กสะกดคำไม่เป็น เมื่อเจอคำใหม่ๆ หรือเปลี่ยนตัวพยัญชนะในสระเดิม ก็ไม่สามารถอ่านได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สพฐ. ได้มีฟื้นการสอนภาษาไทยแบบแจกรูปสะกดคำขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งพระองค์ก็ทรงรับสั่งว่าวิธีนี้เป็นการสอนที่มีประโยชน์ และให้ สพฐ. ไปคิดเพิ่มเติมถึงวิธีการที่จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 สพฐ. – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประกาศนโยบายให้ “ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” เพราะปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มีมาอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีจำนวนประมาณ 25,000-26,000 คนทั่วประเทศกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นฐานของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กติดตามมากับพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว หรือเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก
การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการทำให้เด็กได้มีการพัฒนาตนเอง หากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ การที่จะไปเรียนวิชาอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้ สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ทำให้เด็กทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษาอ่านออกเขียนได้ มีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านและเขียน นี่คือหัวใจสำคัญของการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ศธ.มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เร่งรัด และพัฒนาการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องเน้นคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ในระดับมัธยมศึกษาที่มีปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาเช่นกันคือ เมื่อรับสมัครนักเรียนเข้ามาแล้ว จะมีการคัดกรองในวันปฐมนิเทศ หลังจากนั้นจะเป็นเรียนปรับพื้นฐาน เพื่อแยกนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามรายวิชา โดยเฉพาะวิชาภาษาไทย จากนั้นจะนำรายชื่อนักเรียนส่งให้ครูที่ปรึกษาเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วส่งไปถึงครูผู้สอนแต่ละรายวิชา และทำเป็น “คลินิกหมอภาษา” โดยจะมีการตรวจการอ่าน การเขียน แยกกลุ่มนักเรียน คล้ายการคัดกรองผู้ป่วย ก่อนนำส่งไปแต่ละฝ่าย จัดทำทะเบียนกลุ่ม นัดวันและเวลาเพื่อให้นักเรียนฝึกอ่านและเขียนในเวลาที่ว่างจากการเรียน การแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน มีความสนใจและตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ข้อมูลและภาพ manager, thaipost, arekoy, กระทรวงศึกษาธิการ
No comments:
Post a Comment