17 สถาปัตยกรรมวิธีเปลี่ยน บ้านจัดสรร ให้สวยโดนใจและใช้งานได้ดี
บ้านจัดสรร คือทางออกของใครหลายคนที่ต้องการลดความยุ่งยากในขั้นตอนของการเป็นเจ้าของบ้านเพราะโครงการบ้านจัดสรรเหล่านี้มักตั้งอยู่ในทำเลยอดนิยมที่เราคงไม่สามารถหาเองได้ง่าย ๆ อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน บ้านประเภทนี้จึงมักเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่ออยากมี “บ้านหลังแรก”อย่างไรก็ตาม การออกแบบที่ต้องใช้ระบบอุตสาหกรรมในการทำองค์ประกอบของบ้านซ้ำ ๆ กันเพื่อช่วยลดต้นทุนจึงเลี่ยงไม่ได้ที่รูปแบบและหน้าตาของบ้านแต่ละหลังจะเหมือนกันไปหมดทั้งโครงการ เราจึงอยากชวนคุณมาร่วมค้นหาคำตอบกันว่า จะตกแต่งบ้านจัดสรรอย่างไรให้ออกมาสวยงาม ดูแตกต่างเหมาะกับการใช้งาน และลงตัวกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนมากขึ้น ซึ่ง 17 วิธีปรับปรุงบ้านที่เรานำมาแนะนำใน “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้จึงเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ให้ผลลัพธ์ชัดเจน เริ่มตั้งแต่พื้น ผนัง เพดาน ไปจนถึงพื้นที่นอกบ้าน ให้คุณได้ค่อย ๆ ปรับปรุงไปทีละเล็กทีละน้อย โดยจะเลือกทำส่วนไหนก่อนก็ได้ รู้ตัวอีกทีบ้านของคุณอาจสวยและมีเอกลักษณ์อย่างคาดไม่ถึงเลยก็เป็นได้
ผนัง 01 เปลี่ยนเพื่อเปิด บ้านจัดสรรโดยทั่วไปนิยมใช้หน้าต่างและประตูขนาดมาตรฐาน วัสดุยอดฮิตมีตั้งแต่ไม้ ซึ่งแหล่งขายอยู่ในย่านบางโพ กรุงเทพฯ และอีกที่ที่แนะนำคืออำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยูพีวีซีหรือไวนิลเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน เก็บเสียงได้ดี หาซื้อได้ง่ายตามร้านวัสดุก่อสร้างใหญ่ๆ ทั่วไปวัสดุอะลูมิเนียมทนทานต่อสภาพอากาศ หาซื้อง่ายเช่นกัน และกระจกซึ่งต้องสั่งทำ มีให้เลือกทั้งกระจกใส กระจกสี กระจกลามิเนต และกระจกอบความร้อนซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะเนื้อกระจกมีความแข็งแรง รวมไปถึงเหล็กที่สามารถสั่งตัดตามขนาดที่ต้องการได้
ขนาดของหน้าต่างและประตูมีตั้งแต่ความกว้าง 100 เซนติเมตร 120เซนติเมตร 180 เซนติเมตร 200 เซนติเมตร และ 240 เซนติเมตร โดยการปรับพื้นที่ด้านหน้าให้เชื่อมต่อกับโรงรถซึ่งอาจเป็นประตูทึบบานเดียว ให้เป็นประตูแบบเปิดโล่งเพื่อให้บ้านเชื่อมต่อกับพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ ที่นิยมและสะดวกคือบานยูพีวีซี ซึ่งสามารถสั่งทำตามขนาดของห้องหรือเลือกแบบสำเร็จรูปได้เพื่อความรวดเร็ว โดยมีให้เลือกทั้งแบบประตูบานเลื่อนสลับ บานเลื่อนสี่ขาบานเลื่อนหกขา หรือเสริมด้วยบานปิดตายสำหรับเป็นช่องแสงด้านบน
02 บิดได้สะดวก การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้การใช้งานสะดวกขึ้น เช่นลูกบิดทรงกลมแบบมาตรฐานทั่วไปที่ราคาประหยัด หาซื้อง่าย แต่หากคุณเป็นสายช็อปที่ชอบถือข้าวของพะรุงพะรัง การใช้มือจับแบบก้านโยกน่าจะช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น ในกรณีที่มือไม่ว่างก็ยังสามารถใช้ข้อศอกกดเพื่อเปิดประตูได้ในยามฉุกเฉิน
03 ผนังตามอารมณ์ ถ้าเบื่อผนังสีขาวแบบเดิมๆ ลองเติมสีสันให้ห้องด้วยการสร้างลวดลายให้ผนัง ซึ่งหากมีความสามารถทางช่างและมีใจรักงานศิลปะก็สามารถทำเองได้หรือใช้ความสวยงามของวัสดุแทนการใช้สีสัน เช่น อิฐโชว์แนวโทนสีส้มตัดสลับกับผนังสีสด ก็ทำให้มุมเดิมๆ ของบ้านดูแปลกตาได้เช่นกัน
04 กั้นพื้นที่ให้เกิดทางสัญจร ทิ้งกฎเกณฑ์บางอย่างไปบ้าง เช่น หัวเตียงต้องอยู่ชิดผนัง โดยการลองจัดวางผังเตียงใหม่ให้อยู่ห่างจากผนัง เว้นระยะประมาณ 1 – 1.20 เมตร แล้ววางโต๊ะทำงานไว้ปลายเตียงหรือจัดวางโต๊ะแต่งตัวเล็กๆ ก็ทำให้พื้นที่แบบเดิมๆ ดูเปลี่ยนไป
05 กั้นพื้นที่แบบเบา ๆ แต่การใช้งานเป็นเลิศ การกั้นพื้นที่ด้วยพาร์ทิชันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออกแบบให้พอดี มีระยะช่องเก็บของที่สวยงามเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่อยากง้อช่าง ลองซื้อตู้สำเร็จรูปมาประกอบเองดู โดยให้ตู้ล่างเป็นตู้ทึบแบบมีบานปิดสำหรับเก็บของได้ แล้วใช้กล่องเก็บของมาวางซ้อนต่อกันก็ช่วยทั้งกั้นพื้นที่และเก็บของได้ในตัว ลองเปลี่ยนขนาดของกล่องตามการใช้งาน เช่น หากอยากเก็บของที่มีความสูงหรือจัดวางแจกัน ให้เลือกกล่องทรงสูงมาจัดวางองค์ประกอบให้ดี ก็จะได้พาร์ทิชันสวยๆ ที่เลือกได้เองตามการใช้งานแล้ว
06 ปรับบ้านให้โล่งด้วยผังแบบเปิด การรื้อผนังทึบออกแล้วเปลี่ยนมาติดผนังกระจกแทน หรืออาจแค่ใช้วิธีกั้นห้องเสริมด้วยการใช้บานประตูแคบๆ อย่างบานเฟี้ยม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วนมากขึ้น ทั้งยังทำให้บ้านดูกว้างขึ้นด้วย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชอบทำงานอยู่กับบ้าน
07 จัดมุมงานช่าง มุมทำงานช่างภายในบ้านควรเลือกใช้เครื่องมือช่างที่ใช้งานได้ทั้งกับบ้านรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และจักรยาน ให้กลิ่นอายลอฟต์และอินดัสเทรียล ซึ่งนอกจากจะสร้างเรื่องราวให้บ้านได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องมือและเป็นพื้นที่สำหรับดูแลรักษาหรือซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แต่หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอก็อาจประยุกต์พื้นที่ว่างบนผนังหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ข้างโรงรถ พื้นที่ว่างใต้บันได มาใช้เก็บอุปกรณ์ก็ยังได้
พื้น
08 เปลี่ยนพื้น เปลี่ยนอารมณ์ นอกจากผนังและหลังคาแล้ว องค์ประกอบหนึ่งซึ่งกินพื้นที่ในบ้านของเรา มากเป็นพิเศษก็คือพื้น แต่วัสดุที่โครงการบ้านจัดสรรเลือกมาใช้อาจไม่ตรงกับ ภาพบ้านในฝันของเราเป็นได้ ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศให้บ้าน การเปลี่ยนวัสดุปูพื้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลได้เด่นชัดที่สุด เช่น กระเบื้อง ดินเผาช่วยเพิ่มความอบอุ่นและความเป็นกันเอง การเลือกสีสันและรูปทรง ที่ต่างกันเล็กน้อยก็ให้กลิ่นอายงานคราฟต์ได้ หรือจะเป็นกระเบื้องลายสวย ที่สร้างเรื่องราวให้พื้นที่ที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้ยังมีวัสดุปูพื้นอย่างปูนขัดมัน หรือการเคลือบพื้นด้วยอีพ็อกซี่ก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ ในทางกลับกัน วัสดุปูพื้นอย่างไม้ปาร์เกต์หรือกระเบื้องยางลายธรรมชาติ ต่างก็ให้บรรยากาศอบอุ่นน่าสัมผัส (ด้วยเท้า) ได้เช่นกัน
เพดาน
09 ลดระดับเพิ่มแสงสวย ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงาม แต่การลดระดับฝ้าเพดานยังช่วยให้การใช้งาน ภายในห้องทำได้สะดวกขึ้น เช่น ในห้องนอนที่ต้องการแสงไฟแบบทั่วทั้งห้อง หากเพิ่มความสว่างของแสงไฟและเลือกใช้ไฟแบบเฉพาะจุดก็จะทำให้ห้อง มีการใช้งานที่ปลอดภัยท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม ฝ้าหลุมมีทั้งแบบลดระดับ และสูงกว่าฝ้าปกติ ระดับความสูงของหลืบฝ้าไม่ควรน้อยกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อช่วยบังหลอดไฟและสามารถเปลี่ยนหลอดได้สะดวก
10 เคาน์เตอร์อเนกประสงค์ แน่นอนว่าเคาน์เตอร์ครัวสมัยนี้ต้องเพิ่มไอส์แลนด์ไว้เพื่อให้ลูกๆ นั่งรับประทานอาหารเช้าหรือกรณีที่มีเพื่อนมานั่งจิบไวน์พูดคุยสบายๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขนาดของเคาน์เตอร์ต้องปรับตามการใช้งาน หากใช้ครัวทำขนมหรืออาหารเป็นหลัก ความกว้างของเคาน์เตอร์ที่ใช้งานสะดวกที่สุดอยู่ที่ 80 – 85 เซนติเมตร ความสูง 1.10 เซนติเมตรอย่าลืมเว้นระยะกันเตะด้านล่างเคาน์เตอร์เพื่อความปลอดภัยด้วย
นอกบ้าน
11 คุ้มแดดคุ้มฝนด้วยกันสาด และชายคา ประเทศไทยมีแสงแดดแรงและฝนตกชุกช่องเปิดต่างๆ อย่างเช่นประตู – หน้าต่างจึงมักถูกปิดเอาไว้หรือไม่ก็มีม่านบังแดด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายหากมีสวนสวยๆ หรือวิวดีๆ แต่กลับอดชื่นชมมากกว่านั้นคือการที่ช่องเปิดต่างๆ ไม่สามารถทำหน้าที่ระบายอากาศได้ ลองทำกันสาดคุ้มแดดคุ้มฝนให้ช่องประตู -หน้าต่างดูไหม เท่านี้เราก็ไม่ต้องกลัวแดดกลัวฝนจนสามารถใช้งานช่องเปิดเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่จะให้ดีก็ลองเลือกรูปแบบกันสาดตามสไตล์ที่ชอบเช่น โครงอะลูมิเนียมบางๆ กับอะคริลิกกรองแสงสำหรับบ้านโมเดิร์น หรือจะเสริมด้วยไม้ระแนงให้บรรยากาศอบอุ่นแบบบ้านไม้ก็เข้าที
12 ทำพื้นที่รอบบ้านให้น่าใช้งานด้วยแผ่นทางเดิน ส่วนใหญ่แล้วด้านข้างบ้านจัดสรรมักจะมีพื้นที่ อาจกว้างตั้งแต่ 1.50 – 2เมตร จะเทปูนก็น่าเสียดาย แต่จะปูหญ้าหมดก็คงไม่ได้ ลองแบ่งพื้นที่สำหรับวางแผ่นทางเดินแค่พอเดินได้และเว้นพื้นที่ไว้ให้หญ้าขึ้นได้บ้าง แผ่นทางเดินสมัยนี้มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นคอนกรีต ไม้เทียม หรือจะเป็นแผ่นคาร์เป็ตสโตนก็ดูดี แต่ถ้าหากต้องการแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนก็อาจยกพื้นด้วยเหล็กกล่องเพื่อแยกพื้นออกจากแนวดิน ก็ยังสามารถนั่งเล่นหย่อนขาได้ในกรณีที่มีประตูบานเลื่อนข้างบ้านอีกด้วย และสำหรับปัญหาหญ้าขึ้นรกนั้น วิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้หญ้ารกจนขึ้นมาบดบังทางเดินก็คือ การโรยกรวดหรือหินก้อนเล็กๆ เอาไว้ เพียงเท่านี้ทางเดินก็จะดูเรียบร้อยน่าเดินแม้ในวันที่หญ้าขึ้นสูง
13 สวนสวยได้โดยใช้พื้นที่ไม่มาก เมื่อมีทางเดินข้างบ้านแล้ว ลองจัดสวนสวยๆ ไว้ด้วยกันดีกว่า ปกติแล้วการจัดสวนต้องมีพื้นที่พอประมาณ แต่อย่าลืมว่ารั้วของเราสามารถเป็นพื้นที่สีเขียวได้ การทำสวนกระถาง สวนแขวน หรือการปลูกไม้เลื้อยก็สามารถสร้างวิวดีๆ ที่ทำให้พื้นที่ในบ้านมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก จนสามารถมองเห็นได้จากหน้าต่างห้องรับแขกหรือห้องกินข้าวเลยทีเดียว หรืออาจวางม้านั่งเล็กๆ ไว้เป็นมุมพักผ่อนก็ยังได้
14 เติมสีเขียวให้อาคาร ด้วยไม้เลื้อย นอกจากการทำสวนในที่แคบแล้ว การสร้าง“พื้นผิวสีเขียว” ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรมชาติให้ตัวอาคารในงบประมาณที่ไม่สูง แต่อาจต้องการการดูแลสักเล็กน้อย การเลือกใช้ไม้เลื้อยนั้นสามารถประยุกต์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะปล่อยให้เกาะเลื้อยไปตามผนังหรือตามโครงที่กำหนดไว้ และบางครั้งอาจกำหนดให้ไม้เลื้อยห้อยระย้าลงมาจากด้านบนก็ยังได้ เช่น พื้นที่สำหรับวางคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ชั้นสองใช้เป็นพื้นที่ปลูกกระถางไม้เลื้อยที่ปล่อยให้ห้อยระย้าลงไปเพื่อช่วยบังแดดให้ห้องชั้นล่าง ได้ทั้งความสบายและทัศนียภาพสวยงามไปพร้อมกัน
15 รั้วบ้านเป็นมิตร ไม่ทึบตัน สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภายในกับภายนอกให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านไม่รู้สึกอึดอัดด้วยการทำแนวรั้วบ้านโดยใช้ต้นไม้อย่างโมก ข่อย หรือคริสติน่า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความแข็งกระด้างของรั้วปูนทึบๆ และสามารถมองเห็นภายนอกได้โดยสะดวกแล้ว การใช้ต้นไม้ผสมกับโครงสร้างของรั้วเดิมก็เป็นวิธีที่น่าสนใจในกรณีที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สำหรับรั้วเดิมที่สูงอยู่แล้วแต่ยังไม่พอก็สามารถต่อโครงแล้วปลูกไม้เลื้อยให้สูงขึ้นไปจากแนวรั้วเดิมเพื่อบดบังสายตาจากชั้นสองของบ้านข้างๆ หรือจะลดความสูงของรั้วปูนเดิมลงแล้วปลูกต้นไม้สลับบ้างก็ช่วยลดความทึบของบ้านลงได้เป็นอย่างดี
16 ชานบ้านน่านั่ง หน้าบ้านหรือหลังบ้านที่มีสนามหญ้า หากคิดว่ามีไว้ก็คงไม่ได้ใช้งานอาจลองยกพื้นขึ้นมาเป็นชานบ้านก็ได้ จะมีชายคาหรือไม่มีก็ล้วนเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในการทำกิจกรรมนอกบ้านได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จะใช้เป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจหรือเป็นพื้นที่รับแขกก็ยังได้
17 ศาลาน้อยกลางสวน อะไรจะดีไปกว่าการมีพื้นที่พักผ่อนท่ามกลางสวนสวยๆ ในบ้านของเราเอง จะลองทำศาลาตามแบบหนังสือในเครือบ้านและสวน หรือจะเป็นศาลาง่ายๆ ที่มีให้เลือกซื้อมากมายพร้อมยกไปวางได้ทันทียิ่งไปกว่านั้นหากคุณเป็นผู้ที่มีใจรักการปลูกต้นไม้แล้วละก็ ลองเปลี่ยนศาลาให้กลายเป็นเรือนกระจกสำหรับดูแลรักษาต้นไม้และเพาะกล้าก็น่าจะช่วยเพิ่มความสุขได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถใช้เป็นพื้นที่เก็บอุปกรณ์เกี่ยวกับการทำสวนได้ในตัว
ไอเดียเหล่านี้คือวิธีง่ายๆ ที่เราอยากแนะนำเผื่อว่าใครยังลังเลใจในการปรับปรุงบ้านของตัวเองเพราะอันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายสิ่งที่คุณสามารถทำกับบ้านจัดสรรได้ ขอให้ทุกคนสนุกกับการแต่งบ้าน
ขอขอบคุณบทความดีดีจาก
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”, “วุฒิกร สุทธิอาภา” ภาพประกอบ : วุฒิกร สุทธิอาภา ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน ข้อมูล : หนังสือ ช่างประจำบ้าน โดยคุณศักดา ประสานไทย และหนังสือ 99 เรื่องต้องรู้ก่อนมีบ้าน โดยคุณวิญญู วานิชศิริโรจน์
No comments:
Post a Comment